"มันแกงบวด" อีกหนึ่งขนมไทยที่ทำง่ายมากกกกกก วันนี้พิมเอาสูตรและวิธีทำมาฝากนะคะ ^_^
พูดถึงมันแกงบวด ..... สมัยตอนพิมยังเด็ก ๆ ถ้าถามพิมว่าขนมไทยอะไรที่พิมได้กินบ่อยที่สุด ก็คงจะต้องตอบว่าแกงบวดนี่แหละค่ะ ไม่ว่าจะบวดกล้วย บวดเผือก บวดมัน นี่แม่พิมไม่ก็ยายพิม ทำเกือบจะแทบทุกวันเลยนะคะ เพราะสมัยนั้นเนี่ยที่บ้านพิมทั้งปลูกมะพร้าวเอง ปลูกเผือก ปลูกมันเอง เรียกได้ว่ามีวัตถุดิบหลัก ๆ ครบ อยากจะกินเวลาไหนก็หยิบเอาวัตถุดิบจากในสวนมาทำได้ตลอดเลยอ่ะค่ะ
แล้วแกงบวดในสมัยตอนพิมยังเด็กเนี่ย ไม่ว่าจะบวดมัน บวดเผือก บวดกล้วย เค้าจะใช้น้ำตาลปี๊บนะคะ ไม่ได้ใช้น้ำตาลทราย ซึ่งกลิ่นรสของแกงบวดก็จะหวานหอมมาก เรียกว่าแกงบวดบ้านนี้ แต่กลิ่นหอมส่งไปถึงบ้านที่อยู่ข้าง ๆ กันเลยอ่ะค่ะ แต่ว่าพอพิมโตขึ้นจนอายุสัก 20 ปลายๆ ก็ได้มาเห็นว่าบางบ้านเค้าใช้น้ำตาลทราย เพื่อให้น้ำแกงบวดมีสีขาว สมกับคำว่า "บวดชี" พิมก็เลยเอามาลองทำดูบ้าง จากเดิมที่เคยใช้น้ำตาลปี๊บล้วนๆ ก็เปลี่ยนมาใช้น้ำตาลทรายล้วนๆ แต่พอพิมลองแล้ว รู้สึกว่ามันไม่ใช่สำหรับพิมและคนที่บ้านพิมนะคะ คือ มันอาจจะสวย น้ำกะทิเป็นสีขาว แต่ด้วยความที่น้ำตาลทรายมันมีรสหวานแหลม พอเอามาใส่แกงบวช รสมันจะหวานเพียว ๆ ไม่นุ่มนวล พิมก็เลยรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ เลยลองปรับดูด้วยการใช้น้ำตาลปี๊บผสมกับน้ำตาลทราย ในอัตราส่วนที่น้ำตาลปี๊บยังมากกว่า ปรากฎว่าได้รสของแกงบวดอีกแบบที่อร่อยไม่แพ้ของเดิม และสีของกะทิสวยขึ้นกว่าเดิม ก็เลยกลายมาเป็นแกงบวดที่พิมเอามาทำให้เพื่อน ๆ ได้ดูกันในวันนี้ล่ะค่ะ ^_^
:: ส่วนผสม ::
- มันเทศ และเผือกหั่นเป็นชิ้นพอคำ 300 กรัม
- กะทิ 1 + 1/2 ถ้วย
- หัวกะทิ 1/2 ถ้วย
- เกลือป่น 1 ช้อนชา
- น้ำตาลปี๊บ 130 กรัม
- น้ำตาลทราย 50 กรัม
- ใบเตยล้างสะอาด 2-3 ใบ มัดรวมกันให้เรียบร้อย
:: วิธีทำ ::
อันดับแรกเรามาจัดการกับ "มัน" กันก่อนเน๊าะคะ ^_^ .. มันที่พิมใช้วันนี้เนี่ย จริง ๆ พิมจะใช้มันเทศ มันไข่ หรือมันอย่างใดอย่างนึงก็ได้ค่ะ แต่พอดีร้านที่พิมไปซื้อมัน เค้ามีขายมันหลายอย่าง ซึ่งเอามาแกงบวดได้ทุกอย่าง แถมราคาเท่ากันหมด พิมก็เลยหยิบรวมๆ กันมาอย่างละหัวสองหัว ก็เลยได้มันมาหลายแบบหลายสี..แบบนี้นะคะ
แล้วพอกลับถึงบ้าน พิมก็จัดการเอามันทั้งเปลือกทั้งหัวไปล้างให้สะอาด เอาขี้ดินขี้โคลนที่เกาะติดหัวมันออกค่ะ ล้างเสร็จเช็ดให้แห้ง ปอกเปลือก แล้วหั่นให้เป็นชิ้นพอคำ จากนั้นล้างอีกรอบ แล้วเทใส่กระชอนพักให้สะเด็ดน้ำนะคะ
ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนชอบมันแกงบวดที่ไม่นิ่มไม่เละ มันหนึบ ๆ หน่อย หลังจากที่หั่นมันเป็นชิ้นแล้ว ให้เอาไปแช่ในน้ำปูนในประมาณครึ่งชั่วโมงค่ะ แช่เสร็จ ล้างน้ำสักรอบสองรอบ แล้วพักให้สะเด็ดน้ำนะคะ (น้ำปูนใสจะทำให้มันรัดตัว เวลาเอาไปต้มในกะทิ จะไม่ค่อยเละ แต่ก็อย่าต้มนานเกินค่ะ)
จากนั้นหยิบหม้อใบย่อม ๆ มาใบนึง ใส่กะทิ น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ เกลือป่น และใบเตยมัดลงไปนะคะ คนด้วยทัพพีพอเข้ากัน แล้วเอาหม้อขึ้นตั้งไฟ ใช้ไฟกลาง ...... รอให้น้ำตาลละลายหมด ก็ตักน้ำกะทิในหม้อขึ้นมาชิมรสดูว่าหวานมากน้อยตามชอบไหม ถ้าน้อยไปก็เติมน้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลทรายเพิ่มได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าหวานมากไป ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องกังวล เพราะตอนท้ายเราจะต้องเติมหัวกะทิอีก รสก็จะหวานน้อยลงอ่ะค่ะ
เมื่อชิมรสกะทิได้ที่แล้ว ก็เให้อามันที่สะเด็ดน้ำแล้ว ใส่ลงไปในหม้อได้เลยค่ะ คนนิดหน่อยพอเข้ากัน แล้วก็ต้มไปสักแป๊บ
ผ่านไปประมาณ 5 นาที มันของเราก็จะเริ่มสุกนะคะ คือ จากทีเนื้อมันขุ่น ๆ จะมีความใสขึ้น หากเพื่อน ๆ ไม่แน่ใจว่าสุกจริงไหม ลองเอาช้อนหรือปลายทัพพีกดลงไปที่ชิ้นมัน ถ้าขาดโดยง่าย ก็แปลว่าสุกล่ะค่ะ ..... ทีนี้ก็แล้วแต่ความชอบล่ะนะคะว่าเพื่อน ๆ จะชอบมันที่นิ่มมากน้อยสักแค่ไหน ถ้าชอบนิ่มมากก็ต้มต่อไปอีกสักหน่อย แต่สำหรับพิมชอบให้มันยังดูเป็นชิ้นเป็นอันอยู่ ก็เลยเอาสุกแค่นี้ล่ะค่ะ ...... และพอมันสุกได้ตามต้องการแล้ว ก็เทหัวกะทิที่เหลืออยู่ใส่ลงไปนะคะ
แล้วรอให้เดือดอีกที ตักน้ำกะทิมาชิมอีกรอบ ถ้าหวานน้อยไป เติมน้ำตาลทราย ถ้าหวานมากไป เติมกะทิหรือน้ำเปล่าลงไปนิดหน่อย .... เมื่อได้ความหวานที่ชอบแล้ว ก็ปิดไฟเตาได้เลย ...... เป็นอันว่าเราจะได้มันแกงบวดที่สำเร็จแล้วออกมาหน้าตาอย่างในภาพด้านล่างนี้เลยค่ะ
แล้วเวลาจะทานก็ตักออกมาใส่ถ้วยน่ารัก ๆ แบบนี้นะคะ ^^ ซึ่งมันแกงบวดแบบนี้เนี่ย ทานได้หลายแบบมาก ๆ ทั้งแบบยังร้อนๆ น้ำกะทิอุ่นๆ แบบปกติทั่วไปคือทำเสร็จแล้ว พักไว้จนหายร้อน และแบบแช่เย็นอ่ะค่ะ ถ้าถามว่าแบบไหนพิมชอบสุด ก็คงเป็นแบบแช่เย็น แต่เอาจริง ๆ ถ้าอร่อย พิมก็ชอบทั้งสามแบบล่ะค่า ^_^
สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่หามันหลากสีอย่างพิมไม่ได้ จะใช้เป็นมันสีเดียว เช่น มันไข่ มันม่วง ก็ได้นะคะ เอาตามที่ชอบตามที่หาได้เลย อร่อยเหมือนกันค่ะ
ยังไงลองไปทำทานกันดูนะคะ แล้วพบกับพิมใหม่ในเมนูถัดไปจ้า