เช้าวันนี้เป็นเช้าวันสุดท้ายของพิมกับทริป #ตราด 4 วัน 3 คืนนะคะ ตอนแรกกะว่าจะตื่นเช้า ๆ หน่อย แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ปาเข้าไปเกือบ 8 โมงเช้าเลยค่า
วันนี้แพลนของพิมคือ ช่วงเช้าพิมจะไปศูนย์การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหาดทรายดำนะคะ เพราะที่หาดทรายดำเนี่ยเค้ามีอาหารถิ่นขึ้นชื่ออยู่อย่างนึง ก็คือ ใบโกงกางชุบแป้งทอด ที่พิมได้ข่าวมาว่าอร่อยมากกกกก และพอช่วงเที่ยงพิมก็จะไปกินข้าวที่บ้านช้างทูน เพราะมีคนบอกพิมมาว่าที่นั่นมีอาหารพื้นบ้านหลายอย่าง โดยเฉพาะแกงกล้วยพระ .... อร่อยมากกกกกก และก็จะอยู่เที่ยวทำกิจกรรมที่บ้านช้างทูนจนถึงบ่ายๆ เย็น ๆ ค่อยขับรถกลับกรุงเทพฯ อ่ะค่ะ
เพราะงั้นหลังจากพิมทานข้าวเช้าที่ทอสคานาแล้ว ก็ได้เวลาเก็บกระเป๋าเช็คเอ้าท์ไปเที่ยวต่อกันล่ะค่า ^_^
อย่างที่บอก ... เช้าวันนี้ จุดหมายแรกที่พิมจะไปก็คือศูนย์การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหาดทรายดำ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าแหลมมะขาม ป่าสงวนแห่งชาติของเมืองตราด และห่างจาก Toscana ไม่ถึง 20 นาทีเท่านั้นนะคะ
"หาดทรายดำ" คืออะไร พิมคิดว่าเพื่อน ๆ หลายคนน่าจะสงสัยอยู่อ่ะค่ะ .... คือปกติหาดทรายทั่วไปเนี่ย ทรายก็จะเป็นสีขาวไม่ก็สีน้ำตาลประมาณนั้นนะคะ แต่ที่หาดทรายดำเนี่ย ทรายจะเป็นสีดำ ซึ่งหาดทรายสีดำแบบนี้เนี่ยมีเพียงแค่ 5 แห่งในโลกเท่านั้น และหนึ่งในนั้นก็อยู่ที่ประเทศไทยของเรานี่แหละค่ะ
แต่ก่อนที่เราจะเดินไปหาดทรายดำกัน พิมขอแวะที่ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหาดทรายดำกันก่อนนะคะ (ขอเรียกสั้น ๆ ว่าศูนย์ เน๊าะ) เพราะที่นี่เนี่ยมีอะไรเด็ด ๆ ให้เราเรียนรู้ก่อนเข้าไปที่หาดทรายดำด้วยค่า ^_^
สิ่งที่พิมว่าน่าสนใจ นั่นก็คือการสาธิตการทำสบู่ ยาสระผม ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรเหงือกปลาหมอ ต้นถอบแถบน้ำ และใบขลู่นะคะ ซึ่งเจ้าหน้าที่เค้าจะสาธิตกันแบบไม่ปิดบังเลย ชนิดที่นักท่องเที่ยวคนไหนดูแล้วก็สามารถเอากลับมาทำที่บ้านได้เลยอ่ะค่ะ โดยสมุนไพรที่ทางศูนย์เค้าเอามาเป็นส่วนผสมเนี่ย ก็จะเป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบบนผิวหนัง ลดผื่น และแก้คัน ที่สำคัญ สมุนไพรเหล่านี้เนี่ยเค้าสามารถหาได้ในบริเวณหาดทรายดำ เพราะงั้นเรื่องคุณภาพ เรื่องความสะอาด เรื่องสารเคมีต่าง ๆ ไว้ใจได้เลยนะคะว่ามันโอเคแน่นอนค่ะ ^_^
ซึ่งถ้าเพื่อนๆ คนไหนดูสาธิตแล้วชอบ แต่ไม่อยากกลับไปทำเอง ก็สามารถซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ได้นะคะ ทางศูนย์มีจำหน่ายหมดทุกอย่างในราคาไม่แพงเลยค่ะ ^_^
ดูสาธิตทำสบู่เสร็จ ก็ได้เวลาที่เราจะเข้าไปที่หาดทรายดำแล้วนะคะ ซึ่งจุดเริ่มต้นของทางเดินไปหาดทรายดำก็อยู่ที่ทางเดินด้านหลังศูนย์นี่เองอ่ะค่ะ
หาดทรายดำเนี่ย เมื่อก่อนเดิมเรียกว่าหัวสวนนะคะ เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวมุสลิมและสุเหร่าเก่า ต่อมามีการย้ายออกไป ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลอะไร แต่ก็ส่งผลให้บริเวณนี้กลายเป็นที่ร้าง และป่าเสื่อมโทรมไปอ่ะค่ะ จนภายหลังกรมทรัพยากรธรณีเกิดความสนใจในหาดทรายดำเพราะมีข่าวลือบางอย่าง ^^ ก็เลยเข้ามาทำการตรวจสอบนะคะ และพบว่าทรายดำที่หาดแห่งนี้เกิดจากการยุบสลายของเศษเหมือง เปลือกหอย ที่มาผสมกับแร่ควอทซ์/ซิลิกา หรือไม่ก็เป็นการผุกร่อนของแร่เหล็กอ่ะค่ะ
และที่หาดทรายดำ นอกจากหาดทรายแล้ว ก็ยังมีป่าชายเลนอีกด้วยนะคะ ป่าชายเลนที่หาดทรายดำเนี่ยถือได้ว่าเป็นป่าชายเลนทีสมบูรณ์มากๆ อีกแห่งนึงในภาคตะวันออกของไทยอ่ะค่ะ ดังนั้นกรมทรัพยากรณีและชายฝั่ง เค้าก็เลยจัดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 1.7 กิโลเมตรจากศูนย์ไปยังหาดทรายดำนะคะ โดยระหว่างเส้นทางก็มีการจัดจุดชมปูแสม จุดชมหอยขี้ค้อน จุดชมปูก้ามดาบ จุดดูนก และจุดชมไม้ป่าอื่นๆ อีกมากมายอ่ะค่ะ
จากจุดเริ่มต้น พิมกับคุณสามีใช้เวลาเดินชิว ๆ ประมาณ 15 นาทีก็ถึงหาดทรายดำล่ะนะคะ ^_^
ซึ่งที่หาดทรายดำเนี่ย นอกจากจะมีศาลให้เรานั่งรับลมแบบสบาย ๆ แล้ว ก็ยังมีสปาเท้าหมกทรายดำให้เราได้ลองหมกกันด้วยนะคะ
พูดถึงสปาหมกทรายดำแล้ว จริง ๆ แล้วเรื่องมันเริ่มจากที่มีคนเล่าว่ามีชาวบ้านคนนึงชื่อยายม่อง ไม่รู้จับผลัดจับผลูอีท่าไหน แกเป็นอัมพฤกษ์แล้วเข้ามานอนหมกทรายดำที่นี่ แล้วแกหายจากอัมพฤกษ์ พอมีคนรู้ก็เลยมีการลือไปว่าทรายดำที่นี่สามารถรักษาโรคได้ ไม่ว่าจะโรคปวดหลังปวดไหลปวดขา สิวฝ้า อัมพาต อัมพฤกษ์ สามารถรักษาหายได้หมด ก็เลยทำให้หาดทรายดำของที่นี่มีชื่อเสียงขึ้นมาอ่ะค่ะ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทางกรมทรัพยากรณีได้มาเอาทรายดำที่นี่ไปตรวจสอบ พบว่ามันเป็นแค่ทรายดำที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Limonite เฉย ๆ ไม่ได้มีฤทธิ์มีสรรพคุณใด ๆ ในการรักษาโรค แต่ก็ยังมีประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเยอะ ทางศูนย์เค้าก็เลยจัดพื้นที่ไว้ให้นักท่องเที่ยวมาหมกทรายดำโดยเฉพาะเพื่อการนี้เลยอ่ะค่า (เค้าเขียนว่าสปาเท้า แต่จริง ๆ สปาได้ทุกอย่างที่อยากสปา)
ว่าแล้วมาถึงที่นี่ ถ้าไม่ลองหมกทรายดำสักหน่อย อาจจะเรียกได้ว่ามาไม่ถึงนะคะ เพราะงั้นจัดไปค่ะกับสปาเท้าหมกทรายดำ 20 นาทีค่า ซึ่งขอบอกว่านอกจากทรายที่นี่จะดำต่างจากที่อื่นแล้ว ทรายที่นี่ก็นุ่มมาก.ก.ก. ต่างจากที่อื่นอีกด้วยนะคะ ตอนแรกพิมคิดว่าพอเหยียบลงไปในทรายด้วยเท้าเปล่า น่าจะรู้สึกว่าพื้นแข็ง ๆ เหมือนเหยียบทรายที่ทะเลทั่วไป แต่เอาจริงทรายนิ่มกว่าที่คิดเยอะมาก จนไม่รู้สึกระคายเท้าเลยอ่ะค่ะ เพราะงั้นแล้วถ้าเพื่อนๆ มาเที่ยวที่นี่ ก็อย่าลืมมาทำสปาเท้าเพลิน ๆ กันนะคะ ^_^
และหลังจากทำสปาเท้าแบบเบา ๆ แล้ว ก็ได้เวลาเดินกลับมาที่ศูนย์เพื่อมาดูและมาชิมใบโกงกางชุบแป้งทอด ซึ่งเป็นเมนูอาหารถิ่นเมนูเด็ดของที่นี่แล้วอ่ะค่ะ ^_^
ใบโกงกางชุบแป้งทอด ..... เมนูนี้เนี่ยตอนแรกพิมคิดว่าเค้าเพิ่งมาเริ่มทำกันในสมัยนี้นะคะ ประมาณว่าเป็นอาหารฟิวชั่น อาหารแนวแปลก ๆ ตามยุคสมัยอะไรทำนองนั้นอ่ะค่ะ แต่ปรากฎว่าพอได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ เค้าบอกว่าเมนูนี้ชาวบ้านแถวนั้นทำกินกันมากว่าสิบยี่สิบปีแล้วนะคะ แล้วมาในระยะหลังที่เกิดศูนย์นี้ขึ้นมา เค้าก็เลยนำเมนูนี้มาไว้ในศูนย์ เพราะรู้สึกว่ามันน่าสนใจ และเพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมที่นี่ได้รู้ว่าที่นี่ก็มีอาหารถิ่นแปลกๆ แต่อร่อยอยู่เหมือนกันอ่ะค่ะ ^_^
พูดถึงวิธีการทำเจ้าใบโกงกางชุบแป้งทอดเนี่ย ก็จะคล้ายกับวิธีการทำขนมปังหน้าหมู ย้ำว่าคล้ายๆ แต่ไม่เหมือนนะคะ
เพราะเมนูนี้เค้าจะใช้ใบโกงกางแบบใบใหญ่แทนขนมปัง แล้วตักไก่สับปรุงรสแปะบนใบโกงกางค่ะ (ใช้ไก่ เพราะคนตราดนับถือศาสนาอิสลามเยอะ) แล้วก็เอาไปชุบแป้ง ทอดในน้ำมันท่วมจนเหลืองกรอบ ก็ตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมันนะคะ
แล้วเราก็จะได้ออกมาเป็นใบโกงกางชุบแป้งทอดหน้าตาน่ากินแบบนี้เลยค่า
ที่นี้เวลาจะทาน ก็เสริฟพร้อมกับน้ำจิ้มไก่ที่ชอบนะคะ ^_^
ขอบอกว่าตอนแรกที่ยังไม่กินก็รู้สึกแปลก ๆ แต่พอได้กิน อยากบอกว่ามันดีงามมากเลยค่า ^_^ คือพิมไม่รู้สึกเหมือนว่ากำลังกินใบไม้เลยนะคะ ไม่รู้สึกจริงๆ เพราะมันกรอบไปซะทุกส่วน แต่ยังมีความนุ่มของไก่ปรุงรสด้านบนอยู่ค่ะ กินเปล่าๆ ไม่ต้องจิ้มอะไรเลยก็อร่อย รสชาติ รสสัมผัสดี แต่ถ้าอยากเพิ่มความอร่อย ให้จิ้มกับน้ำจิ้มไก่นิดนึง จะอร่อยขึ้นมากเลยนะคะ ตอนแรกพิมก็กะว่าจะชิมเพลินๆ สัก 2-3 ชิ้น แต่พอได้ชิมจริง มันอร่อยเกินห้ามใจ ....... สุดท้ายแล้วไปตักมาอีกเกือบจานเลยค่ะ ฮ่าๆ
จากหาดทรายดำ พิมมีแพลนเดินทางไปที่ชุมชนบ้านช้างทูนต่อ โดยบ้านช้างทูนจะอยู่ห่างจากหาดทรายดำในระยะทางที่ไม่ไกลมาก คือประมาณ 70 กม. หรือเดินทางแค่ราว 1 ชม. กว่า ๆ ก็ถึงอ่ะค่ะ
ชุมชนบ้านช้างทูน ถือได้ว่าเป็นหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์นิเวศและวัฒนธรรมแห่งใหม่ของจังหวัดตราดนะคะ เหตุผลนึงก็เพราะว่า บ้านช้างทูนมีชาวพื้นเมือง “กลุ่มชาติพันธุ์ชองเผ่าซัมเร” หรือ “ชาวชอง” ซึ่งเป็นชนพื้นถิ่นดั้งเดิมที่ตั้งรกรากอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทอาศัยอยู่่อะค่ะ โดยที่บ้านช้างทูนเนี่ย นอกจากอาหารพื้นถิ่นที่อร่อยและมีเอกลักษณ์แล้ว ที่นี่ก็ยังมีกิจกรรมหลายอย่างที่น่าสนใจและจัดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ทำกันด้วยนะคะ ซึ่งตอนก่อนที่พิมจะมาเนี่ย พิมได้คุยกับป้าหนูซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนแล้ว ป้าหนูก็ได้แนะนำว่าถ้ามากันน้อยคน หรือมาเป็นคู่รักแบบพิม ^_^ ให้ซื้อเป็นแพคเกจจะดีกว่า ราคาแพจเกจละ 800 บาท แต่จะมีทั้งอาหาร มีการพาไปร่อนพลอย เล่นน้ำตก ทำสปาโคลนขาว และสปาสุ่มไก่ด้วยอ่ะค่ะ ... เพราะงั้นเมื่อป้าหนูว่าแบบนี้นี้ พิมก็เอาแบบนี้ล่ะค่า
ที่บ้านช้างทูนเคยมีโฮมสเตย์ แต่ปัจจุบันปี 2559 ไม่มีแล้วนะคะ คาดว่าจะมีอีกทีปี 2560 ค่ะ
ด้วยความที่ตอนก่อนออกจากหาดทรายดำ พิมกินแค่ใบโกงกางชุบแป้งทอดไปประมาณจานเดียว (จริง ๆ นะ ^_^) ไม่ได้กินอาหารอะไรหนัก ๆ สักอย่าง ก็เลยแอบหิวเล็กน้อยยยยนะคะ .... พอมาถึงช้างทูน ก็เลยขอกินอาหารที่ลุงหนุ่ม (แฟนป้าหนู) เตรียมไว้ให้ก่อนเลยค่ะ
อาหารอย่างแรกก็คือ แกงไก่กับกล้วยพระ นะคะ .... ฟังชื่อแล้วอาจจะรู้สึกเฉย ๆ เพราะปกติอาหารแบบนี้ที่ภาคกลางแถวบ้านพิม เค้าก็ทำกินกันทั่วไปอ่ะค่ะ แต่พอได้ชิมอยากบอกว่าคนละเรื่องกับที่คิดไว้เลย คือมันอร่อยมากเลยนะคะ อร่อยอย่างคิดไม่ถึง โดยเฉพาะหยวกกล้วยจะมีความนุ่มหนึบเป็นพิเศษต่างจากกล้วยน้ำว้าที่พิมเคยใช้แกงอยู่เป็นประจำ เครื่องแกงก็หอมมาก ส่วนไก่ก็เป็นไก่บ้านของที่นี่ ความหนึบความกรึบของไก่ มาเจอกับความเข้มข้นถึงเครื่องของเครื่องแกง เจอกับความมันของกะทิที่คั้นสดใหม่ ปรุงโดยใชประสบการณ์ที่มีมายาวนานของคุณยายอายุ 80 กว่าปี รวมกันแล้วก็เลยกลายเป็นแกงไก่กล้วยพระที่อร่อยมากสุดเท่าที่พิมเคยกินมาเลยอ่ะค่ะ ^_^
แต่ด้วยความที่แกงไก่อันนี้มันเผ็ด เพราะคนบ้านช้างทูนกินเผ็ดจัดกันจนเป็นเรื่องปกตินะคะ ก็เลยเหมือนมีการสร้างของที่เอาไว้ใช้กินคู่กันเพื่อลดความเผ็ดขึ้นมา อย่างข้าวเหนียวมูนห่อใบละป้างอ่ะค่ะ ซึ่งจะเป็นข้าวเหนียวมูนที่มีรสหวานนิด ๆ มีความมันของกะทิหน่อย ๆ ไม่ได้มันเหมือนกับข้าวเหนียวที่มูนกินกับมะม่วง เพื่อไว้ให้ใช้กินได้ทั้งกับของคาว และของหวานนะคะ ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของคนชอง หรือคนบ้านช้างทูนเลยอ่ะค่ะ ^_^
และเมื่ออิ่มข้าวกันเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะไปทำกิจกรรมเซตแรกแล้วก็คือ ทำสปาโคลนขาว ร่อนพลอย และเล่นน้ำตกอ่ะค่า โดยจุดที่เราจะไปกันเนี่ยเป็นน้ำตกเล็ก ๆ ท้ายหมู่บ้าน ต้องผ่านป่ายาง ผ่านถนนที่มีหลุม ซึ่งเราไม่สามารถเอารถเก๋งเข้าไปได้ เราก็เลยจำต้องเปลี่ยนจากรถเก๋งของตัวเองมาเป็นรถซาเล้งของลุงหนุ่มแทน .. ดูเผินๆ เหมือนรถลุงไม่ค่อยแข็งแรง บรรทุกหนักไม่ได้ แต่เอาจริงลุงใช้ขนข้าวสารขนปุ๋ยครั้งละกว่า 350 โลแทบทุกวัน เพราะงั้นขนพิมกับคุณสามีแค่นี้ จิ๊บๆ ค่า ^_^
จุดที่ลุงหนุ่มพาเราไป จะเป็นน้ำตกเล็กๆ ที่อยู่ท้ายหมู่บ้านนะคะ ที่จุดนี้เนี่ยเป็นจุดที่สมัยก่อนมีการทำเหมืองพลอยกัน ก็เลยยังพอมีเศษพลอยเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เราได้ร่อนกันพอสนุสนานอ่ะค่ะ ^_^
ซึ่งระหว่างที่เราร่อนพลอยกัน ลุงหนุ่มก็เล่าให้ฟังว่าเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็มีคนมาร่อนพลอยอย่างนี้นี่แหละนะคะ แต่เผอิญว่าเค้าโชคดีมากกกก ก็เลยร่อนได้พลอยสีชมพูเม็ดโตหน่อย มีพ่อค้ามาซื้อถึงที่ ให้เม็ดละ 9 หมื่นกว่าบาทเลยอ่ะค่ะ แล้วเมื่อปีก่อนก็มีคนมาร่อนแบบนี้เหมือนกันนะคะ แต่จุดที่ร่อนจะอยู่เหนือน้ำด้านบนไปหน่อย รายนั้นร่อนไปได้เม็ดนึงราคาแสนกว่าบาทเลยอ่ะค่า O_O โหววว.....วว ลุงหนุ่มพูดอย่างนี้ หนูอยากจะลาออกจากงานเดิมมาร่อนพลอยเลยค่ะ ฮ่าๆ
แล้วระหว่างที่หนุ่ม ๆ เค้าร่อนพลอยกัน พิมกับน้องใบเหมี่ยง (หลานลุงหนุ่ม) ก็มาทำสปาโคลนขาวกันสองคนนะคะ ^_^ โดยโคลนขาวอันนี้เนี่ยจะเป็นโคลนขาวที่ได้จากในหมู่บ้านนี่แหละค่ะ เอามาทำให้สะอาด แล้วผสมกับขมิ้น+สมุนไพรต่างๆ จนเข้ากันดี แล้วก็เอามาทาตัวนะคะ ทาแล้วทิ้งไว้พักนึงจนแห้ง ก็ค่อยล้างออกนะคะ ..... เราก็จะได้ผิวสวย ๆ เนียน ๆ นุ่ม ๆ เพราะขมิ้น และสมุนไพรที่ลุงหนุ่มเอามาใช้ผสมกับโคลนขาวเนี่ย มีสรรพคุณช่วยลดความหมองคล้ำ และช่วยกำจัดอนุมูลอิสระที่อยู่บนผิวของเราอ่ะค่ะ ^_^
พอเสร็จจากทำสปาโคลนแล้ว พิมก็ขอไปช่วยลุงหนุ่มกับคุณสามีร่อนพลอยบ้างค่ะ วิธีการร่อนพลอยเหมือนจะง่าย แต่เอาจริง ๆ ยากอยู่นะคะ คือเราจะต้องเอาบุ๋งกี๋ที่เหมือน ๆ บุ้งกี๋ตักทรายก่อสร้างอ่ะค่ะ ลงไปตักหินที่อยู่ในน้ำขึ้นมาก่อน เอาก็ร่อน ๆ จนเหลือแต่หินเล็ก ๆ ก็ค่อยเทใส่กระด้งแล้วมาร่อนต่ออีกที ซึ่งวิธีการร่อนเนี่ยก็ต้องร่อนให้ถูกวิถีด้วยนะคะ จะร่อนมั่ว ๆ อย่างที่พิมทำไม่ได้ เพราะถ้าร่อนมั่วๆ เนี่ย หินที่เป็นพลอยมันจะไม่ลอยขึ้นมาด้านบนนะคะ - -" คือแบบว่าพิมลองเองอยู่ประมาณ 10 รอบได้ค่ะ สุดท้ายต้องไปขอให้ลุงหนุ่มช่วย 55555
แล้วสุดท้ายหลังจากร่อนพลอยกับลุงหนุ่มและคุณสามีได้ประมาณ 20 นาที พิมก็ได้พลอยชิ้นเล็ก ๆ อย่างนี้มาประมาณ 10 กว่าชิ้นนะคะ ...... ถึงแม้จะไม่มาก ถึงแม้จะเม็ดไม่ใหญ่ แต่พิมชอบมากกกกเลยค่ะ ขอบคุณลุงหนุ่มที่พามานะคะ ^_^
หลังจากร่อนพลอย ทำสปาโคลน และเล่นน้ำตกกันอย่างเพลิดเพลินเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมงแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางกลับไปที่ชุมชนล่ะค่า
จากสปาโคลนขาว กลับมาถึงบ้านช้างทูน เราก็จะมาทำสปาสุ่มไก่กันต่อนะคะ ..... สปาเมื่อกี้เป็นสปาที่ใช้โคลนผสมขมิ้นในการพอกตัว แต่สปาที่นี่จะเป็นสปาที่เหมือนตู้อบสมุนไพรอ่ะค่ะ
โดยการทำสปาสุ่มไก่แบบนี้จะช่วยในเรื่องของการชำระล้างและขับของเสียออกจากร่างกายทางผิวหนัง ช่วยในเรื่องการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ช่วยบรรเทาอาการบวม เหน็บชา ช่วยบำรุงผิวพรรณ ลดอาการผื่นคัน และอื่นๆ อีกมากมายเลยอ่ะคะ โดยลุงหนุ่มแนะนำว่าให้เข้าไปในสุ่มไก่ครั้งละไม่เกิน 15 นาทีเท่านั้นนะคะ (ข้อบังคับเหมือนๆ ซาวน่า) แล้วก็ออกมาพัก พอหายร้อนแล้วค่อยเข้าไปใหม่ได้อ่ะค่ะ
ไม่รู้ว่าของคนอื่นเค้าเป็นกันยังไง แต่ของพิมนี่ทนอยู่ได้ไม่ถึง 15 นาทีค่า แค่ 10 นาทีก็ร้อนสุดๆ แล้ว T__T เหงื่อนนี่ชุ่มผ้าถุงยังกะเอาผ้าไปแช่น้ำแน่ะค่ะ แต่ลุงหนุ่มก็บอกว่าไม่เป็นไร ร่างกายคนเรามันไม่เหมือนกัน เอาเท่าที่เรารู้สึกว่าไหวก็พอค่า ^_^
และหลังจากออกมาจากสุ่มไก่แล้ว ลุงหนุ่มก็เอาชาเทพธาโร ซึ่งเป็นชาประจำชุมชนมาให้พิมได้จิบนะคะ ลุงบอกว่าได้จิบชาร้อนๆ หอม ๆ แบบนี้หลังออกจากสุ่มไก่ จะช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้นโดยไวอ่ะค่ะ ^_^
และก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ พิมแอบถามลุงหนุ่มเรื่องโฮมสเตย์นิดนึงะคะ เพราะจำได้ว่าเคย search หาข้อมูลใน google แล้วเจอว่าที่นี่เคยมีโฮมสเตย์ด้วย ...... ลุงหนุ่มก็เลยชวนพิมไปดูที่ท้ายสวนของลุงหนุ่มค่ะ
ลุงหนุ่มบอกว่าเมื่อก่อนที่หมู่บ้านนี้เคยมีโฮมสเตย์จริง ๆ นะคะ แต่มันมีปัญหาบางอย่าง ก็เลยต้องล้มเลิกไป .... แต่ว่าตอนนี้เนี่ยลุงหนุ่มกำลังพยายามพัฒนาที่ดินตรงท้ายสวนของลุงหนุ่มเอง ที่มีทั้งนาข้าว บ่อปลา และแปลงผักปลอดสารพิษ ให้เป็นเกษตรครบวงจร และลุงหนุ่มจะปลูกบ้านหลังเล็ก ๆ ไว้สักสองสามหลังในบริเวณนี้ เพื่อทำเป็นโฮมสเตย์แบบที่นักท่องเที่ยวจะได้อยู่แนบชิดกับธรรมชาติมากที่สุดอ่ะค่ะ และลุงหนุ่มก็จะสร้างครัวเล็ก ๆ เอาไว้สักห้องด้วย เผื่อว่านักท่องเที่ยวที่มาพักนึกอยากจะทำอะไรกินเองแบบง่าย ๆ ก็สามารถตกปลา เก็บไข่ เก็บข้าวโพด เก็บผักที่อยู่ในสวนมาทำอาหารได้เลยอ่ะค่า ซึ่งพิมก็มองว่ามันน่าสนใจมากๆ เลยนะคะ ก็เลยบอกลุงหนุ่มว่า ถ้าหากลุงหนุ่มทำเสร็จเมื่อไหร่ อย่าลืมชวนหนูนะคะ แล้วหนูจะมารีวิวให้คุณลุงเองค่า ^_^
และแล้วทริปตราด 4 วัน 3 คืน ของพิมกับคุณสามีก็จบลงแล้วนะคะ .... ทริปนี้เป็นอีกทริปที่พิมมีความสุขมาก ได้ไปในที ๆ ไม่เคยไป ได้เห็นอะไรในแบบที่ยังไม่เคยเห็น ได้ทำกิจกรรมอะไรที่ยังไม่เคยทำ และที่สำคัญที่สุดได้กิมอาหารถิ่นหลายอย่างที่ไม่เคยกินมาก่อน ... มีความสุขมากถึงมากที่สุดค่ะ และแอบหวังเล็กๆ ว่า เพื่อน ๆ ที่อ่านรีวิวตราดของพิมจะมีความสุขเหมือนกับพิมด้วยนะคะ ...... สวัสดีค่ะ ^_^
:: เพิ่มเติม ::
- หาดทรายดำ ติดต่อ ผอ.ธนิต โทรศัพท์ 080-574-5544
- บ้านช้างทูน ติดต่อ ป้าหนู โทรศัพท์ 08-4863-7267
- แพคเกจโฮมสเตย์บ้านช้างทูน ต่อ 1 คน กับ 3 กิจกรรม และอาหาร 1 มื้อ ราคา 800 บาท
- กล้วยพระ เป็นกล้วยพันธุ์หนึ่งที่ไม่มีหน่อกล้วย วิธีการขยายพันธุ์จะต้องใช้เมล็ดอย่างเดียวนะคะ